“ดับไฟใต้ปี 70” กับดักนโยบาย? สัญญาณอันตราย ‘ไส้ศึก’ ในกองกำลังท้องถิ่น - ข่าววันนี้

Post Top Ad

Share This

“ดับไฟใต้ปี 70” กับดักนโยบาย? สัญญาณอันตราย ‘ไส้ศึก’ ในกองกำลังท้องถิ่น

Share This




โดย... ไชยยงค์ มณีพิลึก


สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ห้วงเดือนกรกฎาคม 2568 “ความถี่” ในการก่อเหตุของขบวนการบีอาร์เอ็นลดลงเล็กน้อย จากวันละหลายๆ เหตุการณ์ก็เป็นสองหรือสามวันครั้ง แต่มีการก่อเหตุพร้อมกันในหลายพื้นที่และกระจายไปทั้ง 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส

วิธีก่อเหตุยังไม่เปลี่ยนแปลง ถ้าไม่ซุ่มยิง “อส.อ.” หรือ “อส.จ.” ก็เป็น “อาสาสมัครทหารพราน” และ “ตำรวจ” หนักหน่อยก็โจมตี “ชุดคุ้มครองตำบล” แต่ที่เกิดขึ้นมากสุดยังเป็นการวาง “กับดักระเบิด” ต่อเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยที่นำกำลังออกปฏิบัติภารกิจตามสถานที่ต่างๆ

ด้วยความสูญเสียต่อเจ้าหน้าที่ต้องถือว่ายังไม่ลดลง เพราะเมื่อเกิดเหตุแต่ละครั้งยังมีเจ้าหน้าที่ตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก เนื่องจากทุกหน่วยต่างมีภารกิจที่ต้องปฏิบัติ โดยเฉพาะ “ชุดคุ้มครองครู” และ “ชุดลาดตระเวน” รักษาความปลอดภัยที่มีอยู่ทุกพื้นที่

การโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐด้วย “ระเบิดแสวงเครื่อง” ไม่ว่าจะแบบตั้งเวลาหรือใช้แบตเตอรี่จุดชนวน แม้เป็นวิธีการโบราณที่ตกทอดมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่กลับยังทรงพลานุภาพ เพราะภูมิประเทศของชายแดนใต้ถ้าไม่เป็นสวนยางก็เป็นป่าเขา

วิธีการวาง “กับดักระเบิดใต้ถนนหนทาง” เชื่อมระหว่างหมู่บ้าน ตำบลและอำเภอ ไม่ว่าจะด้วย “ถังแก๊สบอมบ์” หรือ “กล่องเหล็กบอมบ์” แล้วต่อชนวนด้วยสายไฟลากเข้าป่าข้างทางราว 100 เมตร เป้าหมายคือชุดลาดตระเวนไม่ว่าจะด้วยรถยนต์ รถจักรยานยนต์หรือเดินเท้า การซุ่มโจมตีในรูปแบบนี้ยังคงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

จึงต้องถือว่าฝ่ายบีอาร์เอ็นมีความเชี่ยวชาญการวางกับดักระเบิดใต้ถนนหนทางมาก ซึ่งการก่อเหตุแต่ละครั้งแต่ต้องใช้กำลังคนจำนวนมากประกอบเข้าเป็นชุดใหญ่ ต้องมีทีมปฏิบัติการ ทีมคอยคุ้มกัน และทีมพาหลบหนีจากการถูกติดตามไล่ล่า

การที่ยังปฏิบัติการก่อวินาศกรรมได้ต่อเนื่อง สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า “กองกำลังติดอาวุธ” ของบีอาร์เอ็นในพื้นที่ไม่ได้ลดจำนวนลง มิหนำซ้ำมีแต่จะเพิ่มมากขึ้นและมีความเข้มแข็งเอาเสียด้วย แน่นอนสิ่งนี้เป็นผลมาจากมี “การจัดตั้ง” เครือข่ายไว้เป็นอย่างดี ทั้งในระดับหมู่บ้านและตำบล

ประเด็นนี้จึงสะท้อนถึงความล้มเหลวด้าน “งานการข่าว” ของหน่วยความมั่นคงในพื้นที่ ทำอย่างไรให้ “แนวร่วม” ยัง “เกาะหลัง” เจ้าหน้าที่รัฐหน่วยต่างๆ อยู่ได้ ทำให้ทราบแทบจะทุกความเคลื่อนไหวของทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง


เรื่องนี้ยังเป็นที่ประจักษ์ด้วยว่า แม้แต่การที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นเลือกที่จะใช้ “พลแม่นปืน” ซุ่มยิงเจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่เคยพลาดแม้แต่ครั้งเดียว ถ้าไม่กล้ายอมรับความจริงว่า นี่คือ “ความล้มเหลว” ทางด้านการข่าวของหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ แล้วจะเรียกว่าอะไรดี

จึงมีคำถามดังๆ เพื่อให้สังคมได้รับรู้ทั่วกันว่า ผ่านมาแล้ว 21 ปีสำหรับการเกิดขึ้นของไฟใต้ระลอกใหม่ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ทำไมยังแก้ไขความล้มเหลวของงานด้านการข่าวไม่ได้เสียที

นอกจากนี้แล้วขอถามดังๆ อีกว่า ทำไมหลายครั้งเจ้าหน้าที่ถึงไม่ค่อยกล้าติดตามกลุ่มคนร้ายที่ซุ่มจุดระเบิดอยู่ในป่าข้างทาง แน่นอนพราะกลัวว่าจะมีกับดักระเบิดลูกที่ 2 และ 3 รออยู่ หรืออาจมีกองกำลังติดอาวุธรอซุ่มโจมตีอีกระลอกก็เป็นได้ ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นผลมาจากงานการข่าวที่ล้มเหลวมิใช่หรือ

ดังนั้น ภารกิจที่ตามมาของผู้บริหาร “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” และ “ศอ.บต.” ที่คนในพื้นที่เห็นแบบซ้ำซากคือ การเป็นประธาน “วางพวงหรีด” แล้วร่วม “พิธีรดน้ำศพ” รวมถึง “พิธีส่งศพ” และที่สำคัญ “การมอบเงินเยียวยา” ให้ครอบครัวผู้สูญเสีย ทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่และประชาชน

แม้หลังการปรับ ครม.ครั้งล่าสุด พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.รักษาการ รมว.กลาโหม ได้เดินทางลงพื้นที่ชายแดนใต้มาสร้างขวัญและกำลังใจ พร้อมกำชับให้กำลังพลเน้นปฏิบัติการป้องกันเหตุ ซี่งก็เหมือนๆ กับทุกผู้นำรัฐบาลและกองทัพที่เคยทำตามๆ กันมาหลังรับตำแหน่งใหม่ หลังกลับไปแล้วก็ไม่เคยมีอะไรดีขึ้น

มีข่าวสะพัดตามมาด้วยว่า เวลานี้ รัฐบาลมีนโยบายให้ “กระทรวงมหาดไทย” หรือคนของ “ฝ่ายปกครอง” เข้ามารับผิดชอบ “ดับไฟใต้” แทนทหารมากขึ้น อันเป็นไปตามแผนที่วางไว้ให้ปี 2570 เป็นปีของการ “ยุติปัญหาไฟใต้” แล้วให้ทหารส่งมอบภารกิจให้ “ชุดคุ้มครองตำบล” หรือ ชคต. ที่จะมีกระจายเต็มพื้นที่


หากเป็นเช่นนั้นจริง เชื่อว่า นับแต่นี้เป็นต้นไป “เป้าหมายโจมตี” ของฝ่ายบีอาร์เอ็นก็จะเปลี่ยนจากทหารและตำรวจไปเป็นกองกำลังท้องถิ่น คือบรรดา “อาสาสมัคร” หรือ อส. ของฝ่ายปกครองมากยิ่งขึ้น และเป็นไปได้ที่จะรวมเอาระดับ “ปลัดอำเภอ” และ “นายอำเภอ” เข้าไว้ด้วย

โดยข้อเท็จจริงสถานการณ์ไฟใต้เวลานี้ยังจำเป็นต้องใช้ “กองกำลังหน่วยหลัก” ซึ่งก็คือทั้ง “ทหาร” และ “ตำรวจ” เนื่องเพราะ “กองกำลังท้องถิ่น” แม้จะผ่านการฝึกหนักมาก็จริง แต่ยังไม่มีขีดความสามารถเพียงพอที่จะรับมือกองกำลังติดอาวุธของบีอาร์เอ็นได้

มีประเด็นที่ต้องตระหนักให้มากคือ มีข่าวว่าที่ผ่านมา ฝ่ายบีอาร์เอ็นได้ส่งคนเข้าไป “ฝังตัว” อยู่ในหน่วยต่างๆ ให้ทำหน้าที่ “ไส้ศึก” ในจำนวนนั้นมี “อส.” อยู่ด้วย นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่ามี “อส.จำนวนหนึ่ง” แม้ไม่ใช่คนของขบวนการ แต่ก็ตกอยู่ในภาวะ “จำยอม” เพื่อความอยู่รอดปลอดภัย

มีปรากฏการณ์ที่น่าตกใจคือ มีการพิสูจน์แล้วว่า “กระสุนปืน” จำนวนหนึ่งที่กองกำลังติดอาวุธบีอาร์เอ็นใช้ในการโจมตีเจ้าหน้าที่ ได้มาจาก “อส.” ที่อาจจะถูกข่มขู่ บังคับ หรือตกอยู่ในภาวะจำยอมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ดังนั้น ก่อนที่จะโอนภารกิจดับไฟใต้ไปให้ “ฝ่ายปกครอง” อยากขอให้มีการแก้ไขปัญหา “กองกำลังท้องถิ่น” ที่ถือเป็น “จุดอ่อน” ให้ได้เสียก่อน เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว จะเกิดความสูญเสียตามมาครั้งใหญ่ต่อประเทศชาติและประชาชน อันเนื่องมาจากนโยบายดับไฟใต้ที่ผิดพลาดก็เป็นได้

.............................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Pages